ภาพรวมตลาด
แนวโน้มเศรษฐกิจของแคนาดายังคงแสดงภาพความเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า GDP เดือนเมษายนหดตัวลง 0.1% และยังมีสัญญาณว่าการหดตัวอาจต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ภาพรวมทั้งไตรมาสสองมีโอกาสติดลบในระดับที่น่ากังวล ปัจจัยหลักมาจากภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าและมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหล็ก อะลูมิเนียม และยานยนต์ที่ยอดผลิตหดตัวแรง ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการค้าส่งก็ยังอ่อนตัวลง ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำแรงกดดันให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางแคนาดา (BoC) อาจจำเป็นต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์แคนาดาเมื่อเทียบกับสกุลหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ แรงกดดันยังสะท้อนชัดในตลาดแรงงานของแคนาดาที่อ่อนแรงกว่าที่คาด แม้ตัวเลขการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมจะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคืออัตราการว่างงานกลับขยับขึ้นแตะ 7% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบแปดปี (หากไม่นับช่วงวิกฤตโควิด) โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ยังคงปรับลดกำลังคนต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ สถานการณ์นี้ทำให้ตลาดแรงงานยังขาดแรงส่งสำคัญต่อการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และยิ่งตอกย้ำความเป็นไปได้ที่ BoC อาจต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ ซึ่งจะกดดันค่าเงิน CAD ไม่ให้ฟื้นได้ง่ายนักเมื่อเทียบกับ USD
แม้ว่าดัชนี Ivey PMI ภาพรวมจะยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ 50 ซึ่งหมายถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สัญญาณเชิงบวกในบางองค์ประกอบ เช่น ดัชนีการจ้างงานและข้อมูลที่ไม่ได้ปรับฤดูกาล ยังพอสะท้อนถึงความยืดหยุ่นบางส่วนของเศรษฐกิจแคนาดา อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารวมกับแรงกดดันจากการค้าโลกและความไม่แน่นอนด้านมาตรการภาษี ก็ยังชัดเจนว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวต่อไป ทำให้ตลาดมองว่าความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยยังคงสูง ตรงข้ามกับฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งอาจชะลอการลดดอกเบี้ยภายใต้กรอบที่จำกัดกว่า ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้ว ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้คู่เงิน USDCAD มีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นต่อได้จากความแตกต่างในพื้นฐานเศรษฐกิจของสองประเทศ
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
USDCAD
คู่เงิน USDCAD ยังคงมีแนวโน้มที่ราคาจะพยายามฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะนี้ ตราบใดที่ราคายังสามารถทรงตัวเหนือแนวรับสำคัญบริเวณกรอบสีแดงด้านล่างได้อย่างมั่นคง หลังจากก่อนหน้านี้ราคาลงไปทดสอบกรอบดังกล่าวและมีแรงซื้อเข้ามาพยุงไว้ได้ค่อนข้างดี ด้านค่า RSI ปัจจุบันเคลื่อนไหวบริเวณระดับประมาณ 44 แม้จะยังอยู่ในโซนกลาง แต่ก็ถือว่ายังมีโมเมนตัมฝั่งซื้อคอยประคองราคาเอาไว้ ขณะที่ค่า MACD แม้จะยังติดลบเล็กน้อย แต่รูปแบบการเคลื่อนไหวยังไม่แสดงสัญญาณเร่งตัวลงชัดเจน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันฝั่งขายได้ระดับหนึ่ง หากแรงซื้อยังหนุนต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่ราคาจะดีดกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญบริเวณ 1.3935 ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากแรงขายกลับเข้ามากดดันจนราคาหลุดต่ำกว่าแนวรับกรอบสีแดงลงไปได้เมื่อใด ก็อาจเป็นสัญญาณยืนยันว่าโมเมนตัมขาลงรอบใหม่กำลังเร่งตัวและมีโอกาสกดดันราคาให้อ่อนตัวลงต่อได้ในระยะถัดไป
USDCAD (DAILY)
