ภาพรวมตลาด
กระแสความกังวลต่อทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กำลังเป็นแรงกดดันสำคัญที่ฉุดให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มขึ้นต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อเร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางข่าวลือว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณาเปลี่ยนตัวประธาน Fed เพื่อผลักดันนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น สถานการณ์นี้ได้ฉุดให้ดัชนีดอลลาร์ DXY ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบสามปี และเมื่อพิจารณาจากทิศทางตลาดเงินก็ยังสะท้อนความคาดหวังว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยอีกภายในปีนี้ หากกระแสนี้ยังชัดเจนต่อไป ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันฝั่งดอลลาร์และอาจเปิดทางให้ USDJPY มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อ
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งญี่ปุ่น แม้ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ แต่สัญญาณพื้นฐานภายในประเทศบางส่วนก็เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุดดัชนี PMI ภาคการผลิตได้กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องเกือบหนึ่งปี อีกทั้งภาคบริการยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการจ้างงานก็มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยหนุนความเชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจยังคงมีโอกาสฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาคการส่งออกจะยังคงเผชิญแรงกดดันอยู่ก็ตาม สัญญาณดังกล่าวยังช่วยพยุงฝั่งเยนไม่ให้อ่อนค่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในระยะนี้
นอกจากนี้ เงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังทรงตัวในระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ผู้ว่าการธนาคารกลางจะย้ำว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก แต่เสียงในคณะกรรมการบางส่วนก็เริ่มส่งสัญญาณว่ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้หากอัตราค่าแรงและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงแผนการลดการซื้อพันธบัตรในระยะถัดไป ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจหนุนให้ฝั่งเยนมีแรงต้านและไม่อ่อนค่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ดังนั้น เมื่อประกอบกันทั้งฝั่งดอลลาร์ที่เผชิญแรงกดดันจากนโยบายและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับสัญญาณพื้นฐานของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้น จึงนับเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่อาจทำให้ USDJPY มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันขาลงได้ต่อเนื่องในช่วงระยะถัดไป
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
USDJPY
คู่เงิน USDJPY ในกรอบเวลารายวัน (DAILY) ยังคงเคลื่อนไหวโดยมีภาพรวมที่สะท้อนสัญญาณอ่อนแรงให้เห็นได้ชัด หลังจากที่ราคาปรับตัวขึ้นไปทดสอบกรอบแนวต้านสำคัญบริเวณโซนสีแดง แต่กลับไม่สามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งบ่งชี้ถึงแรงขายที่ยังคงกดดันราคาเหนือโซนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ด้านค่า RSI ล่าสุดอยู่บริเวณประมาณ 49 แสดงให้เห็นว่าโมเมนตัมยังคงทรงตัวในโซนกลาง ไม่ได้บ่งบอกถึงแรงซื้อที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน แม้ค่า MACD จะพยายามปรับตัวตัดขึ้น แต่สัญญาณโมเมนตัมขาขึ้นก็ยังไม่ชัดเจนนัก เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขทางเทคนิค หากราคายังไม่สามารถเบรกทะลุกรอบแนวต้านสีแดงได้อย่างชัดเจน ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญแรงขายกดดันต่อเนื่องและอาจย่อตัวลงเพื่อปรับฐาน โดยมีแนวรับสำคัญถัดไปบริเวณ 142.035 อย่างไรก็ตาม หากแรงซื้อกลับเข้ามาและราคาสามารถฝ่าแนวต้านดังกล่าวขึ้นไปได้อย่างมั่นคง ก็จะเป็นการเปิดทางให้ราคาเคลื่อนไหวขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่บริเวณ 150.736 ต่อไป
USDJPY (DAILY)
