ภาพรวมตลาด
ตลาดน้ำมันกำลังเผชิญแรงกดดันฝั่งขาลงอย่างชัดเจน หลังจากหน่วยงานสำคัญอย่าง EIA ปรับคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent อาจลดลงไปอยู่ราว 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้ และเฉลี่ยเพียง 59 ดอลลาร์ในปี 2026 ปัจจัยหลักมาจากสต็อกน้ำมันทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากฝั่งการผลิตยังขยายตัวเร็วกว่าอัตราการบริโภคที่ไม่ได้ฟื้นตัวตามที่ตลาดเคยคาดไว้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่แม้กำลังการผลิตน้ำมันดิบจะปรับลดลงเพียงเล็กน้อยจากจุดสูงสุด แต่ก็ยังมากพอจะกดดันภาพรวมตลาดได้อยู่ ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ก็ต่ำกว่าปีก่อน ทำให้แรงกระตุ้นต่อความต้องการในตลาดโลกยังไม่มากพอจะหนุนราคาให้ยืนสูงได้อย่างมั่นคง
เมื่อมองไปยังแนวโน้มระยะกลาง แม้ฝั่งโอเปกจะยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเติบโตแข็งแรงต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง แต่ในอีกด้าน ปริมาณอุปทานกลับยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IEA คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกอาจพุ่งแตะ 114.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2030 ขณะที่ความต้องการบริโภคอาจแตะจุดสูงสุดเพียงราว 105.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามากระตุ้นราคาช่วงสั้น ตลาดอาจเข้าสู่ภาวะอุปทานส่วนเกินได้ง่าย ความไม่สมดุลนี้จึงยังเป็นแรงถ่วงสำคัญต่อโมเมนตัมราคาน้ำมันในปีหน้า
นอกจากนี้ ปัจจัยอีกด้านที่ยิ่งกดดันภาพรวมคือ สัญญาณความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่เริ่มคลี่คลายลง หลังจากสหรัฐฯ ประกาศความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการ ทำให้ความเสี่ยงในการปิดเส้นทางเดินเรือสำคัญอย่างช่องแคบฮอร์มุซลดลงตาม ส่งผลให้ตลาดน้ำมันคลายความกังวลต่ออุปทานจากตะวันออกกลางในระยะนี้ ซึ่งการคลี่คลายความตึงเครียดนี้ยังมีแนวโน้มลดแรงซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในฝั่งพลังงานไปด้วย เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมด หากไม่มีปัจจัยกระตุ้นใหม่ที่มีนัยสำคัญเพียงพอ ราคาน้ำมันดิบ Brent (XBRUSD) ก็อาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบปรับฐานลงต่อไปอีกช่วงหนึ่ง
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
XBRUSD
ราคาน้ำมันดิบ Brent (XBRUSD) ในกรอบเวลารายวัน (DAILY) ยังคงมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากฝั่งขายต่อเนื่อง หลังจากที่ราคาพยายามดีดกลับขึ้นไปทดสอบบริเวณแนวต้านสำคัญในกรอบสีแดง แต่กลับยังไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านดังกล่าวได้อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงแรงขายที่ยังคงรออยู่หนาแน่นบริเวณนี้ ด้านค่า RSI ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่แถวระดับประมาณ 44 ซึ่งยังไม่แสดงสัญญาณของโมเมนตัมซื้อที่แข็งแรงนัก ขณะที่ค่า MACD เองก็ยังเคลื่อนไหวในโซนลบ และยังไม่แสดงทิศทางการเร่งตัวขึ้นอย่างเด่นชัดนัก ภาพรวมโครงสร้างราคาจึงยังคงเอื้อให้ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อได้ในระยะสั้น หากแรงขายยังคงกดดันต่อเนื่อง ราคามีโอกาสถอยกลับไปทดสอบแนวรับสำคัญถัดไปบริเวณ 61.49 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่เคยเป็นจุดรองรับแรงซื้อมาแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากแนวรับดังกล่าวยังสามารถพยุงราคาไว้ได้ ก็อาจเปิดโอกาสให้ราคามีแรงดีดตัวกลับขึ้นมาได้อีกครั้งในช่วงสั้น แต่หากหลุดต่ำกว่าโซนนี้ลงไปชัดเจน ก็อาจส่งสัญญาณการอ่อนตัวต่อในกรอบใหญ่ได้เช่นกัน
XBRUSD (DAILY)
