ภาพรวมตลาด
สกุลเงินดอลลาร์ กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่อาจนำไปสู่แนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นถึงกลาง จากปัจจัยพื้นฐานฝั่งแคนาดาที่เริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนทิศ แม้เศรษฐกิจโดยรวมยังมีความเปราะบาง แต่การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ และท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นจากธนาคารกลางแคนาดา (BOC) กำลังส่งผลต่อมุมมองของตลาดต่อตัวดอลลาร์แคนาดา ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อของแคนาดา ในเดือนกุมภาพันธ์พุ่งขึ้นแตะระดับ 2.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน และสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ BoC อย่างชัดเจน ขณะที่เงินเฟ้อรายเดือนเพิ่มขึ้นถึง 1.1% สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่เริ่มกลับมา แม้เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้ตลาดเริ่มตั้งคำถามว่า BOC อาจจำเป็นต้องชะลอการลดดอกเบี้ยในรอบต่อไป
แม้ยอดค้าปลีกของแคนาดายังคงอ่อนแอ โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ และสัญญาณการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ แต่การที่เงินเฟ้อกลับมาสูง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้ BOC ต้องดำเนินนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความแตกต่างด้านแนวโน้มดอกเบี้ยระหว่าง BOC และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้ดอลลาร์แคนาดามีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อีกหนึ่งประเด็นที่ควรจับตาคือ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ แม้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจแคนาดาในระยะสั้น แต่ได้กระตุ้นให้รัฐบาลแคนาดาเร่งเจรจาและทบทวนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หากเกิดความคืบหน้าในเชิงบวก อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นในฝั่ง CAD ได้ในระยะถัดไป ดังนั้น แม้เศรษฐกิจแคนาดายังคงมีจุดเปราะบางหลายจุด แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด และท่าทีระมัดระวังในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็อาจส่งผลให้ ดอลลาร์แคนาดาได้รับแรงหนุน ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านนโยบายเช่นกัน
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
USDCAD
ในกรอบเวลา 4 ชั่วโมง (H4) คู่เงิน USDCAD เริ่มแสดงสัญญาณที่ชัดเจนของการกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ราคาเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway โดยพิจารณาจากสัญญาณทางเทคนิค ค่า RSI ในกรอบเวลานี้อยู่ที่ระดับ 52.08 ซึ่งสะท้อนว่าราคายังไม่มีแรงซื้อที่แข็งแกร่งพอจะผลักดันให้กลับเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นได้ ขณะเดียวกัน แรงขายก็ยังไม่หมดไปโดยสมบูรณ์ ทำให้ราคายังมีโอกาสปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะถัดไป ด้าน MACD ก็เริ่มส่งสัญญาณลบเพิ่มเติม โดยทั้งเส้น MACD และเส้นสัญญาณยังอยู่ในแดนลบต่ำกว่าเส้นศูนย์ ซึ่งบ่งชี้ถึงแรงขายที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง ที่สำคัญคือ ราคายังคงเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบ Bearish Channel ซึ่งถือเป็นสัญญาณยืนยันเพิ่มเติมว่าแนวโน้มหลักยังคงเป็นขาลง ทั้งนี้ หากราคายังไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านสำคัญในระยะสั้นได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่แรงขายจะกลับมาอีกครั้ง และกดดันให้ราคาปรับตัวลงสู่แนวรับถัดไป โดยแนวรับที่นักลงทุนควรจับตาอย่างใกล้ชิดอยู่ที่บริเวณ 1.41934 ซึ่งถือเป็นระดับที่มีนัยสำคัญ ขณะที่แนวต้านสำคัญยังอยู่ที่บริเวณ 1.43126 และหากราคาสามารถทะลุกรอบ Bearish Channel ขึ้นไปได้ ก็อาจเปิดโอกาสให้ราคาขยับขึ้นไปทดสอบแนวต้านดังกล่าวอีกครั้ง
USDCAD,H4