• 15 Jan 2025
  • พื้นฐาน

สภาพคล่องคืออะไร? ตัวอย่างเชิงปฏิบัติและการประยุกต์ใช้จริง

MDP-6729_1_cover_1200x675.png

สภาพคล่องคืออะไร?

การที่สินทรัพย์ (เงิน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สกุลเงินดิจิทัล ฯลฯ) สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยที่ราคาไม่เปลี่ยนไปมากนัก สิ่งนี้จะถูกเรียกว่าสภาพคล่อง ยิ่งสภาพคล่องสูงเท่าไร การขายสินทรัพย์ในราคาตลาดก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ที่ดิน ของสะสม หรืออสังหาริมทรัพย์ ต่างก็มีสภาพคล่องต่ำกว่าเงินสดและสิ่งเทียบเท่าเงินสดเป็นอย่างมาก

ประเภทของสภาพคล่อง

สภาพคล่องมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทจะสอดคล้องกับสภาพคล่องในแต่ละระดับ และทุกประเภทล้วนมีความจำเป็นต่อการสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่แข็งแกร่ง

สภาพคล่องของตลาด

สภาพคล่องของตลาดคือความง่ายในการซื้อหรือขายสินทรัพย์โดยที่ราคาไม่เปลี่ยนไปมากนัก หากสภาพคล่องของตลาดสูง การหาผู้ซื้อหรือผู้ขายในราคาตลาดก็จะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หุ้น ของบริษัทขนาดใหญ่ สกุลเงิน สกุลเงินดิจิทัล และพันธบัตรรัฐบาลต่างก็มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากผู้คนซื้อขายกันบ่อยครั้ง สินทรัพย์ที่มีการซื้อขายกันไม่บ่อยนัก เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือของสะสมหายาก มักจะมีสภาพคล่องต่ำกว่ามาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการขายบ้านหรือภาพวาดหายาก แถมราคาก็อาจมีความผันผวนสูง

ปัจจัยสำคัญ: ยิ่งมีผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ในตลาดมากเท่าไร การบรรลุข้อตกลงในราคาที่ต้องการก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น สภาพคล่องของตลาดที่สูงจะช่วยให้การซื้อขายราบรื่นยิ่งขึ้นและลดต้นทุนการทำธุรกรรม

สภาพคล่องทางบัญชี

การที่บริษัทสามารถชำระหนี้ระยะสั้น (เงินกู้ ตั๋วเงิน) ด้วยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น เงินสด บัญชีลูกหนี้ และสินทรัพย์ระยะสั้นอื่น ๆ สิ่งนั้นจะถูกเรียกว่าสภาพคล่องทางบัญชี

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การลงทุนระยะยาวและอสังหาริมทรัพย์จะมีสภาพคล่องต่ำกว่า

ปัจจัยสำคัญ: การวัดผล เช่น อัตราส่วนทุนหมุนเวียนและอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วจะช่วยประเมินสภาพคล่องทางบัญชี และส่งผลต่อสุขภาพทางการเงินของบริษัท (ว่าบริษัทสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทันทีได้หรือไม่)

สภาพคล่องระดับสินทรัพย์

เมื่อเราพูดถึงสินทรัพย์ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือสภาพคล่องในระดับสินทรัพย์ของสินทรัพย์ หากคุณสามารถแปลงสินทรัพย์หนึ่งเป็นเงินสดได้โดยที่สูญเสียมูลค่าไปเพียงเล็กน้อย นั่นแสดงว่าสินทรัพย์ดังกล่าวมีสภาพคล่อง (เช่น เงินสด หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ พันธบัตรรัฐบาล) ส่วนที่ดิน อุปกรณ์ และของสะสมล้วนมีสภาพคล่องต่ำ

ปัจจัยสำคัญ: นักลงทุนจะพิจารณาสิ่งนี้ในตอนที่เลือกสินทรัพย์เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงเงินทุนในยามที่ต้องการ

สภาพคล่องระดับพอร์ตการลงทุน

สภาพคล่องอีกประเภทหนึ่งคือสภาพคล่องระดับพอร์ตการลงทุน โดยพื้นฐานแล้วนี่เป็นแนวคิดเดียวกันกับสภาพคล่องระดับสินทรัพย์ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นพอร์ตการลงทุน โดยรวมแล้วก็คือคุณสามารถขายพอร์ตการลงทุนได้เร็วเพียงใดโดยที่ไม่ขาดทุน คุณสามารถแปลงพอร์ตการลงทุนของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น หุ้นหรือพันธบัตร เป็นเงินได้อย่างง่ายดาย แต่พอร์ตการลงทุนที่มีการลงทุนระยะยาวหรือสินทรัพย์หายากนั้นยากที่จะขายได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยหลัก: สภาพคล่องของพอร์ตการลงทุนจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและต่ำในพอร์ตการลงทุนนั้น

ความต้องการสภาพคล่องที่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ มีความต้องการสภาพคล่องที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาต้องการเข้าถึงเงินสดเร็วเพียงใด ข้อกำหนดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะ ความต้องการ และเป้าหมายของอุตสาหกรรม

ตัวอย่างเช่น:

  • ธุรกิจค้าปลีกต้องการสภาพคล่องสูงเพื่อชำระเงินให้กับซัพพลายเออร์และจัดการการดำเนินงานประจำวัน

  • ในองค์กรธนาคารและสถาบันการเงินก็เช่นกัน พวกเขาต้องรักษาสภาพคล่องให้สูงเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติงานประจำวัน และจ่ายหนี้

  • บริษัทก่อสร้างอาจทำงานกับสินทรัพย์สภาพที่มีคล่องต่ำ เช่น ที่ดินและโครงการระยะยาว

  • สตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีอาจมีสภาพคล่องต่ำ แถมต้องพึ่งพาการลงทุนระยะยาวเพื่อการเติบโต

ปัจจัยสำคัญ: ความต้องการสภาพคล่องของแต่ละภาคส่วนจะขึ้นอยู่กับการดำเนินงาน วงจรกระแสเงินสด และข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของภาคส่วนนั้น ๆ ในอุตสาหกรรมที่ต้องการหมุนเวียนเงินทุนอย่างรวดเร็วและความเร็วในการชำระหนี้ที่สูง สภาพคล่องถือเป็นสิ่งจำเป็น

ลองใช้บัญชีทดลอง

วิธีการวัด

มีสามวิธีหลักในการวัดสภาพคล่อง และประเมินความสามารถของบริษัทในการปฏิบัติตามภาระผูกพันในระยะสั้น

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน: การคำนวณและตัวอย่าง

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนจะประเมินความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้สินระยะสั้น (หนี้ที่ครบกำหนดภายในหนึ่งปี) โดยใช้สินทรัพย์ระยะสั้น ซึ่งมีสูตรคำนวณดังนี้:

MDP-6729_1200x400_2_TH.png

ตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีสินทรัพย์มูลค่า 100,000 ดอลลาร์ (เงินสด 50,000 ดอลลาร์ บัญชีลูกหนี้ 30,000 ดอลลาร์ และสินค้าคงคลัง 20,000 ดอลลาร์) และหนี้สิน 70,000 ดอลลาร์ (บัญชีเจ้าหนี้ 40,000 ดอลลาร์ และหนี้ระยะสั้น 30,000 ดอลลาร์) อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทตามสูตรคือ 1.43 นั่นหมายความว่าทุก ๆ 1 ดอลลาร์ ในหนี้สิน บริษัทจะมี 1.43 ดอลลาร์ ในสินทรัพย์ ซึ่งทำให้มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยทั่วไปแล้วอัตราส่วนที่สูงกว่า 1 ถือว่าดีมาก ๆ (แต่การตีความที่แม่นยำกว่านี้จะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม)

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio หรือ Acid Test Ratio): การคำนวณและตัวอย่าง

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว ( quick ratio หรือเรียกอีกอย่างว่า acid-test ratio) จะวัดความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้โดยใช้สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง แต่ไม่ใช่สินทรัพย์ทั้งหมด สิ่งนั้นทำให้การวัดนี้แม่นยำยิ่งขึ้นกว่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน คำว่า “acid test” หมายถึงการทดสอบอย่างรวดเร็วที่ให้ผลทันที

ซึ่งมีสูตรคำนวณดังนี้:

MDP-6729_1200x400_3_TH.png

สมมติว่าในขณะนี้บริษัทแห่งหนึ่งมีหนี้สินมูลค่า 70,000 ดอลลาร์ โดยมีสินทรัพย์ทั้งหมดมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ และมีสินค้าคงคลังมูลค่า 20,000 ดอลลาร์ ในกรณีนั้น อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็วคือ 1.14 ซึ่งก็เพียงพอที่จะชำระหนี้สินได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ

อัตราส่วนเงินสด: การคำนวณและตัวอย่าง

นี่คือการวัดสภาพคล่องที่แม่นยำที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (เช่น ตั๋วเงินคลัง) เพียงพอหรือไม่ที่จะชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีสูตรคำนวณดังนี้:

MDP-6729_1200x400_4_TH.png

บริษัทที่มีเงินสดเพียง 50,000 ดอลลาร์ และเป็นหนี้อยู่ 70,000 ดอลลาร์ มีอัตราส่วนเงินสดอยู่ที่ 0.71 ซึ่งไม่ดีมาก ๆ เนื่องจากมันไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมดได้อย่างง่ายดาย (อัตราส่วนต่ำกว่า 1)

อัตราส่วนเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจว่าบริษัทสามารถชำระหนี้ได้ง่ายเพียงใดในระยะสั้น และสามารถใช้หรือควรใช้สินทรัพย์ประเภทใดในการดำเนินการดังกล่าว แต่ละอัตราส่วนจะเน้นย้ำถึงด้านต่าง ๆ ของสภาพคล่อง ซึ่งช่วยให้ธุรกิจและนักลงทุนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล

เทรดเลย

การจัดอันดับสภาพคล่องของตลาด

เราสามารถแบ่งสินทรัพย์ทุกประเภทออกเป็นสามประเภทกว้าง ๆ ได้ตามสภาพคล่อง

สภาพคล่องสูง:

  • เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด: สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด เนื่องจากคุณไม่จำเป็นต้องแปลงสภาพเพื่อใช้งาน แถมยังไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียมูลค่าในตอนที่ใช้งานอีกด้วย

  • หุ้น ของบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Apple หรือ Amazon โดยปกติแล้วคุณสามารถซื้อขายได้อย่างง่ายดายในตลาดหลักทรัพย์ เพราะผู้ซื้อและผู้ขายแทบจะพร้อมซื้อขายกันเสมอ

  • คุณสามารถขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพันธบัตรดังกล่าวเป็นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ (เช่น พันธบัตร รัฐบาลสหรัฐ) นักลงทุนมักพิจารณาว่าสินทรัพย์เหล่านี้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดการเงิน และพวกมันถูกซื้อขายอย่างแพร่หลายและได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง

สภาพคล่องปานกลาง:

  • ตราสารหนี้เอกชนจะมีสภาพคล่องต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากมีความต้องการที่ต่ำกว่า สภาพคล่องยังขึ้นอยู่กับฐานะการเงินที่เชื่อถือได้และสภาวะของตลาดของบริษัทอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ตราสารหนี้เอกชนของบริษัท S&P 500 นั้นจะขายได้ค่อนข้างง่าย แต่ตราสารหนี้เอกชนของบริษัทขนาดเล็กนั้นอาจต้องใช้เวลานานกว่า

  • หุ้นขนาดเล็กหรือหุ้นที่ไม่เป็นที่นิยมอาจขายได้ยากเนื่องจากมีคนซื้อขายน้อยกว่า

  • สภาพคล่องของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกิจกรรมของตลาด สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ หรือ โลหะเงิน จะมีสภาพคล่องสูงกว่า ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน จะต้องมีการจัดการด้านโลจิสติกส์และเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งทำให้สภาพคล่องลดลง

สภาพคล่องต่ำ:

  • อสังหาริมทรัพย์หรือของสะสม: การทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เวลาในการหาผู้ซื้อ ต่อรองราคา และกรอกเอกสารให้ครบถ้วน บางครั้งคุณอาจต้องลดราคาลงอย่างมากเพื่อปิดการขายอย่างรวดเร็ว และราคาอาจผันผวนอย่างมากตามสภาวะตลาดและสถานที่ ของสะสมหายากอย่างเช่น ผลงานแท้ของปิกัสโซ อาจต้องใช้เวลาในการหาผู้ซื้อและตกลงราคากัน

  • ในกรณีของการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินกิจการอยู่แล้วแต่ประสบปัญหาและบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นหรือก่อตั้งมาได้ไม่นาน การหาผู้ซื้อจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า การลงทุนเหล่านี้จะอยู่ในบริษัทเอกชน และไม่มีตลาดสาธารณะสำหรับการซื้อขายอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยสำคัญ: สภาพคล่องของสินทรัพย์จะขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขาย ความลึกของตลาด ความโปร่งใสของตลาด และส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขาย ยิ่งสามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วมากขึ้นเท่าไร สภาพคล่องของสินทรัพย์ก็จะสูงขึ้นเท่านั้น

ผลกระทบของสภาพคล่อง

สภาพคล่องมีบทบาทสำคัญต่อนักลงทุนรายย่อย บริษัท อุตสาหกรรม รัฐบาล และต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ตัวอย่างเช่น บุคคลอาจจำเป็นต้องขายรถของตนอย่างรวดเร็วเพื่อจ่ายบิลฉุกเฉิน (สภาพคล่องระดับสินทรัพย์) บริษัทต้องแน่ใจว่าสามารถจ่ายเงินพนักงานได้ตรงเวลา (สภาพคล่องทางบัญชี) รัฐบาลบริหารเงินสำรองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเพื่ออุ้มบริการสาธารณะต่าง ๆ (สภาพคล่องของตลาดและระดับภาคส่วน)

ประเด็นหลัก ๆ ที่สภาพคล่องสามารถมีอิทธิพลได้มีดังต่อไปนี้

ราคาสินทรัพย์

สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่หรือ สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยม มักจะมีราคาที่เสถียรกว่า เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่สูง ราคาของสินทรัพย์จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ และโดยทั่วไปคุณสามารถขายหรือซื้อได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด

ในทางตรงกันข้าม สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ (เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือสกุลเงินดิจิทัลหายาก) อาจมีราคาที่ผันผวนสูงเนื่องจากจำนวนผู้ซื้อหรือผู้ขายมีจำกัด

ความเสี่ยง

สภาพคล่องสูงยังช่วยลดความเสี่ยงอีกด้วย หากคุณซื้อหรือขายได้อย่างง่ายดาย คุณสามารถมั่นใจได้ว่าคุณจะไม่สูญเสียมากไปในตอนที่สภาวะตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องที่ต่ำจะเพิ่มความเสี่ยง เมื่อสินทรัพย์ที่ถือมาเป็นเวลานานกลายเป็นปัญหา นักลงทุนอาจเผชิญกับการขาดทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวน หากสินทรัพย์ใช้เวลานานในการขาย

ความสามารถในการลงทุน

สภาพคล่องที่สูงจะมาพร้อมกับความยืดหยุ่นทสูงขึ้น การเปิดและปิดคำสั่งซื้อขายก็ทำได้ง่าย ซึ่งช่วยให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างรวดเร็ว (ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วย)

การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องจำนวนมากสามารถจำกัดความสามารถในการลงทุนของคุณได้ คุณอาจไม่สามารถขายสินทรัพย์ได้อย่างรวดเร็วในยามที่คุณต้องการ และพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยมากกว่า

เสถียรภาพทางการเงิน

สภาพคล่องที่สูงจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม มันช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อสินทรัพย์ไม่สามารถขายได้อย่างรวดเร็วก็อาจนำไปสู่การขาดสภาพคล่องในตลาด และทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและไม่มีความมั่นคง

ความพร้อมใช้งานของสินเชื่อ

สภาพคล่องสูงจะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อ เมื่อธนาคารและสถาบันการเงินสามารถขายสินทรัพย์ได้อย่างรวดเร็วหรือให้สภาพคล่อง นั่นแสดงว่าพวกเขาเต็มใจที่จะให้สินเชื่อและกู้ยืม อย่างไรก็ตาม หากสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ขายได้ยาก การปล่อยกู้ก็อาจจะมีวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีความเต็มใจน้อยลงที่จะปล่อยกู้

สรุป

สภาพคล่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงิน มันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในทุกระดับ ตั้งแต่บุคคลที่บริหารการเงินส่วนบุคคลไปจนถึงธุรกิจและนักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจในตลาด โดยการเข้าใจสภาพคล่องประเภทต่าง ๆ และวิธีการวัดสภาพคล่องเหล่านั้น บุคคลหรือบริษัทจะสามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลในการปรับทรัพยากรให้เหมาะสม ลดความเสี่ยง และใช้โอกาสต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ลงทะเบียนเลย

แบ่งปันกับเพื่อน ๆ: